ปวดคอ แบบไหนส่ออันตราย

คฑา

Junior Member
สมัครเมื่อ
26 มีนาคม 2014
โพสต์
13
อาการปวดบริเวณต้นคอ บ่า สะบัก เชื่อว่าหลายท่านคงเคยเกิดอาการลักษณะนี้มาก่อน และบางรายหาทางออกด้วยการใช้บริการนวดแผนโบราณ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง มากน้อยแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็หวนกลับมาเป็นอีก บางรายปวดเรื้อรังจนแยกไม่ออกว่าเป็นแค่ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดเพราะสาเหตุอื่น
fetch

อาการปวดคอพบได้ในคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งทำงานในสำนักงาน หรือชาว Office นั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มือพิมพ์แป้นพิมพ์ต่อเนื่องหลายชั่วโมง การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ เป็นสาเหตุของอาการปวดคอที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อยมาก อาจปวดแบบเป็นๆ หายๆ หรือปวดเรื้อรัง ถ้าอาการปวดมาจากกล้ามเนื้อจะไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าปวดรุนแรงมากเพราะหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณกระดูกต้นคอเสื่อม แล้วเคลื่อนไปทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง อาการปวดชนิดนี้นับว่าเป็นอันตราย
รู้จักหมอนรองกระดูก
คอและหลังของคนเราจะประกอบด้วยกระดูกสันหลังหลายๆ ข้อมาต่อกัน ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีอวัยวะชนิดหนึ่งคั่นอยู่เรียกว่า หมอนรองกระดูก ซึ่งจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ วงรอบนอกจะมีลักษณะเป็นวงแหวนที่มีความหยุ่น เหนียว คล้ายยางรถยนต์ และใจกลางวงแหวนนี้จะมีลักษณะเป็นเหมือนเจลใสๆ ทั้งหมดมีหน้าที่รับแรงกระแทกและมีความยืดหยุ่นในตัว ทำให้เราเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังได้ดีขึ้น
นอกจากพฤติกรรมใช้งานคอและหลังแบบผิดๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ที่ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมแล้ว อายุที่มากขึ้นก็เป็นสาเหตุของหมอนรองกระดูกเสื่อมเช่นกัน เพราะภาวะนี้เป็นการเสื่อมตามธรรมชาติ เมื่ออายุเกิน 30 ปี โปรตีนที่อยู่ในเจลซึ่งอยู่ข้างในหมอนรองกระดูก รวมถึงวงแหวนรอบนอกจะเริ่มเสื่อม อีกทั้งยังสูญเสียความยืดหยุ่นและคุณสมบัติการรับแรงกระแทก ทำให้เวลาขยับตัว กระแทก หรือใช้งานมากๆ จะทำให้วงแหวนที่อยู่รอบๆ เจลดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่ยึดระหว่างข้อต่อแต่ละข้อเปื่อยยุ่ยและฉีกขาดในที่สุด จนเนื้อของหมอนรองกระดูกเกิดการเคลื่อนไปข้างหลัง เบียดอวัยวะสำคัญที่คอ คือไขสันหลังที่ต่อมาจากสมอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย หรือเส้นประสาท ถ้าหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือเคลื่อน จนทำให้ความแข็งแรงในการยึดกันของข้อกระดูกสันหลังลดลง ร่างกายจะพยายามสร้างหินปูน หรือสร้างเนื้อเยื่อโดยรอบข้อต่อให้หนาตัวมากยิ่งขึ้น จะยิ่งทำให้มีการกดทับช่องไขสันหลังมากขึ้น
ระยะแรกอาจแยกไม่ออกว่าอาการปวดคอนั้น เป็นอาการปวดทั่วๆ ไป หรือปวดเพราะหมอนรองกระดูกเสื่อม แต่สามารถสังเกตได้โดย ถ้าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อจะมีอาการเมื่อใช้งาน พอได้พักอาการจะดีขึ้น แต่กรณีที่เป็นหมอนรองกระดูกเสื่อม แม้จะพักผ่อนแล้วอาการไม่ค่อยจะดีขึ้น ยังคงปวดต่อเนื่อง
อาการปวดคอแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
  • กลุ่มที่มีอาการปวดคออย่างเดียว ปวดมาถึงบ่าและสะบัก กลุ่มนี้ถึงแม้จะรักษาค่อนข้างง่าย แต่ก็เป็นอันตรายหรือภัยเงียบด้วยเช่นกัน เพราะผู้ป่วยคิดว่าไม่อันตรายจึงไม่มาพบแพทย์ แต่ความจริงแล้วควรมาพบแพทย์เพื่อแยกว่าเป็น Office Syndrome หรือหมอนรองกระดูกเสื่อม
  • กลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับเส้นประสาท มีอาการแสดงคือ ปวดร้าวลงแขนไปจนถึงมือร่วมกับอาการชา รายที่เป็นมากๆ อาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย เช่น ยกไหลไม่ขึ้น ขยับนิ้ว หรือกระดกข้อมือไม่ขึ้น นอกจากนี้ หากมีการกดทับเส้นประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับส่วนใด จะส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นลีบลงด้วย บางครั้งอาจลีบถาวร ถึงแม้จะทำการผ่าตัดแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้เมื่อทำการรักษาโอกาสหายมีมากกว่ากลุ่มที่หมอนรองกระดูกเสื่อมที่ไปกดทับไขสันหลัง
  • กลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง กลุ่มนี้จะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน ทำให้กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักจะเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยอาจมีประวัติปวดคอเรื้อรัง ร่วมกับปวดลงแขนหรือลงขา หรือมีอาการชาร่วมด้วย ไปจนถึงมีอาการอ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อบางส่วนเจ็บ กล้ามเนื้อมือลีบ หยิบจับของเล็กๆ หรือใช้มือทำงานที่ละเอียด เช่น กลัดกระดุม ผูกเชือกรองเท้าไม่ถนัด ตลอดจนมีอาการของการเดินเซ สูญเสียการทรงตัวที่ดีไป อาจมีอาการจนถึงขั้นควบคุมระบบการขับถ่ายได้ลำบาก
ในอดีตกลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง จะทำการรักษาค่อนข้างลำบากและมีความเสี่ยงสูงเพราะระยะห่างระหว่างไขสันหลังกับหมอนรองกระดูก หรือหมอนรองกระดูกกับเส้นประสาทห่างกันประมาณ 1 มิลลิเมตร หรือไม่ถึงมิลลิเมตร แต่สมัยนี้มีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัย มีการนำเครื่องมือที่ดีมาช่วยในการผ่าตัดให้มีความแม่นยำและมีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยใช้กล้องขยายที่เรียกว่า “ไมโครสโคป” (Spine microscope) หลักการเหมือนกล้องจุลทรรศ์ที่นักเรียนใช้ดูจุลินทรีย์ในห้องทดลอง เป็นการส่องอนุภาคเล็กๆ ให้ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มองเห็นชัดเจน นำมาสู่ความแม่นยำ และปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด
ส่วนผลการผ่าตัดถ้าแก้ไขตรงจุดหรือไม่ปล่อยจนอาการเลวร้ายจนเกินไป ผลการผ่าตัดจะดี อาการปวด อาการชาจะหายไป และกล้ามเนื้อที่เคยอ่อนแรงจะค่อยๆ ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้
วิธีป้องกันและบรรเทาอาการปวดคอ
ควรทำกายบริหารโดยพยายามออกกำลังกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบคอให้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ขยับกล้ามเนื้อบริเวณคอเลย สามารถบริหารกล้ามเนื้อคอได้โดยการยืดและการเกร็งกล้ามเนื้อ ดังนี้
1. การยืดกล้ามเนื้อ ก้มให้คางชิดอกค้างไว้ นับ10 วินาที แล้วเงยหน้าขึ้นในทิศทางตรงข้ามค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นก็ทำเช่นเดียวกันแต่ให้หันหน้าและเอียงศีรษะไปในทิศทางซ้ายและขวา ค้างไว้ข้างละ 10 วินาที เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อให้มีการเคลื่อนไหว
2. การเกร็งกล้ามเนื้อ เพื่อเสริมความแข็งแรงและความทนทานให้กล้ามเนื้อคอ ด้วยการเอามือดันศีรษะไว้ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ขณะเดียวกันก็พยายามเกร็งคอเพื่อต้านแรงดันจากมือที่ดันศีรษะไว้ ให้ทำทุกทิศทางทั้งดันขมับด้านซ้ายและขวา หน้าผากและท้ายทอย การทำเช่นนี้จะช่วยให้คอได้ออกกำลังกาย
ผู้ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดคอ ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าอาการที่เป็นรุนแรงถึงขั้นเป็นหมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลัง บางครั้งมาพบแพทย์เมื่อสาย ตอนที่โรคเป็นมากแล้ว ด้วยอาการเสียการทรงตัว หรืออาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ควบคุมความสมดุลของร่างกายไม่ดี หกล้มง่าย หรือใช้มือทำงานที่มีความละเอียดไม่ได้ เพราะควบคุมความละเอียดของกล้ามเนื้อไม่ได้ เป็นต้น จึงไม่อยากให้ประวิงเวลาในการมาพบแพทย์ เพราะคิดว่าอาการปวดคอที่เป็นๆ หายๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่อันตรายอะไร แล้วรอจนเป็นมากแล้วถึงมาพบแพทย์ อาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาได้

ที่มา
www.mthai.com
 
ด้านบน ด้านล่าง