อาการหลงลืมบ่อย ๆ จุดเริ่มต้นของโรคความจำเสื่อมรีบรักษาก่อนโรคลุกลาม

thidarat

สมาชิกโดดเด่น
สมัครเมื่อ
25 กันยายน 2019
โพสต์
66
อาการหลงลืมที่เกิดขึ้นกับคนเราบ่อย ๆ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าหากลืมบ่อย ๆ ถึงขั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิต อาจไม่ใช่เพียงแค่อาการหลงลืมปกติ หากคุณเป็นลูกๆที่กำลังมีความกังวลใจเกี่ยวกับคุณพ่อคุณแม่และผู้สูงอายุในครอบครัวที่เริ่มมีอาการหลงลืมบ่อย ๆ จนน่าเป็นห่วง แล้วอาการ “ลืม” แบบไหนเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อม วันนี้เรามีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภาวะโรคความจำเสื่อมจาก ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลนครธน มาฝากไว้ให้สังเกตผู้สูงอายุที่บ้านกันค่ะ

e6a7918632291711f8f6c11cab6f84e6.jpg
อาการหลงลืมจำไม่ได้วางของอยู่ไหน ลืมปิดเตาแก๊ส ลืมกุญแจ นึกคำพูดไม่ออก บวกลบเลขง่ายๆ ไม่ได้ ล้วนมักเป็นการอาการเริ่มต้นของโรคความจำเสื่อม คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าตัวเองเป็นโรคความจำเสื่อมก็จำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว รวมทั้งกลัวการรักษาจนปล่อยให้โรคลุกลามเกินกว่าจะรักษาได้ ส่งผลกับการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนที่คอยดูแล

ปัจจัยเสี่ยงความจำเสื่อม สมองเสื่อม
ความจำเสื่อม
เป็นหนึ่งในอาการของภาวะสมองเสื่อม คือ ภาวะที่เซลล์สมองในบริเวณต่าง ๆ เสื่อม จากสาเหตุต่าง ๆ โดยเริ่มจากส่วนหนึ่งในสมองแล้วลุกลามไปยังสมองส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ การเกิดภาวะสมองเสื่อม นั้นปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ อายุที่มากขึ้นซึ่งผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีความจำถดถอยลง อับดับสองเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบ พอหลอดเลือดสมองตีบ มีภาวะอุดตันก็จะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตามมาได้

นอกจากปัจจัยดังกล่าว ยังมีเรื่องของไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แบ่งเป็น 3 ข้อใหญ่ คือ 1.ผู้ที่ชอบทำอะไรซ้ำซาก จำเจ มีกิจวัตรประจำวันเดิม ๆ ทำอะไรซ้ำ ๆ ไปเที่ยวที่เดิม รับประทานอาหารร้านเดิม เมนูเดิม ไม่ยอมทำอะไรใหม่ๆ 2. ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการรักษา จะทำให้สมองส่วนความจำที่มีชื่อว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) เหี่ยวเล็กกว่าคนปกติทั่วไป และ 3. กลุ่มคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม เก็บตัวอยู่คนเดียว

อาการโรคความจำเสื่อม
อาการของโรคความจำเสื่อม จะเริ่มมีความจำผิดปกติตั้งแต่เล็กน้อย เช่น หลงลืมวางของอยู่ไหน ลืมปิดเตาแก๊ส ลืมกุญแจ ลืมปิดประตูบ้าน ลืมปิดไฟ ลืมรับประทานยาที่จำเป็น มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ใครบอกอะไรไปแล้วไม่จำ ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็น เป็นต้น จนถึงภาวะความจำเสื่อมขั้นรุนแรงที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เรียกชื่อสิ่งของและชื่อคนที่คุ้นเคยไม่ถูก หรือสูญเสียความเข้าใจภาษา และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการมีพฤติกรรมผิดปกติ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เห็นภาพหลอน หวาดระแวง

สังเกตความผิดปกติของโรคความจำเสื่อมได้อย่างไร?
- อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา
- สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ฤดูกาล กลับบ้านไม่ถูก หลงทิศทาง หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้น ๆ ได้อย่างไร
- จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
- มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
- ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
- มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์ การดูนาฬิกา
- มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
- ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น

การวินิจฉัยและรักษาโรคความจำเสื่อม
แพทย์จะมีการซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง จากนั้นจะเริ่มการทดสอบทางสมอง เพื่อวัดสมรรถภาพการทำงานประเมินความบกพร่องในการรับรู้เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น ให้ทำแบบทดสอบกระดาษหน้าเดียวที่มีคำถามเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป ทักษะสมอง คิดเลข ร่วมกับการตรวจร่างกายและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องเพื่อคัดแยกโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อความจำเสื่อม ผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร โดยการตรวจในห้องปฏิบัติการจะประกอบไปด้วย การตรวจเลือดต่าง ๆ การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomography (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI)

ในด้านของการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก เช่น ความจำเสื่อมที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ซึ่งมักจะได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน (TDCS) เพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น

เทคโนโลยี TDCS รักษาความจำเสื่อม
เครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน หรือ TDCS เป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติ โดยพบว่าเทคโนโลยี TDCS สามารถช่วยเพิ่มความจำและความสามารถของสมองได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยในระยะแรก และระยะกลาง ที่มีอาการความจำเสื่อมไม่รุนแรงมากนัก

เทคโนโลยี TDCS นี้ จะส่งกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน ประมาณ 1-2 mA ผ่านอิเล็กโทรดไปยังกะโหลกศีรษะ โดยการกระตุ้นสมองส่วนหน้าของกลีบหน้าผาก (Prefrontal cortex) หรือ สมองกลีบขมับส่วนหน้า (anterior temporal cortex) เพื่อเพิ่มความจำและทำให้การประมวลผลของสมองเร็วขึ้น (speed of cognitive) หรือ ความยืดหยุ่นของสมองดีขึ้น (neuroplasticity)

ขั้นตอนการรักษาด้วย TDCS จะใช้เวลากระตุ้นประมาณ 20-30 นาที ต่อครั้ง การรักษาโดยส่วนใหญ่แล้วประมาณ 5-10 ครั้ง จะเริ่มเห็นผลการรักษาที่ดีขึ้น ในช่วง 1 เดือนแรก ควรเข้ามารับการกระตุ้นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็จะทำให้วงจรประสาททำงานได้ปกติ และมีการหลั่งสารสื่อประสาทออกมาได้ ซึ่งขั้นตอนการรักษานั้น ทำเพียงแค่ติดสายส่งกระแสไฟฟ้า 2 ตำแหน่งคือ กระแสไฟเข้า และกระแสไฟออก จากนั้นปล่อยกระแสไฟฟ้า ระหว่างการรักษาผู้ป่วยเพียงแค่นั่งเฉยๆ ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกเหมือนมดกัด เหมือนมีเข็มเล็ก ๆ ทิ่ม หรือคัน ในตำแหน่งที่กระแสไฟฟ้าเข้าหรือออกได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไปภายใน 30-60 วินาที หรืออาจเกิดผิวหนังแดงบริเวณที่กระตุ้นได้ในบางครั้ง

ข้อควรระวังการรักษาความจำเสื่อม ด้วยเทคโนโลยี TDCS
- ผู้ป่วยที่มีบาดแผล การติดเชื้อ มีรอยโรค หรือเส้นเลือดอักเสบในบริเวณหนังศีรษะที่กระตุ้น
- มีประวัติเลือดออกง่าย หรือมีประวัติชัก
- ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจชนิด Demand-Type
- ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือกสมองอุดตัน/แตกในระยะเฉียบพลัน ควรระมัดระวังในการรักษา
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการกระตุ้นด้วย TDCS

ทั้งนี้ ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของคุณพ่อ คุณแม่ และผู้สูงอายุในครอบครัว หากลูกหลานสัมผัสได้ว่าผู้สูงอายุเหล่านี้ ต้องพึงพาเราในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีพฤติกรรมผิดปกติเปลี่ยนไปจากเดิม ต้องรีบนำมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาท ของศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน เพื่อทำการวินิจฉัย และหาทางป้องกันเพื่อชะลอการดำเนินของโรค ให้การดำเนินชีวิตของผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลนครธน https://www.nakornthon.com/article/detail/โรคความจำเสื่อม-อาการหลงลืม-ที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา
 
ด้านบน ด้านล่าง